เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ช้อป ออนไลน์ แซงร้านค้า

          ผลสำรวจล่าสุดนี้จัดทำเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภค เปิดรับการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปีนี้ 44% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ระบุว่า เคยซื้อสินค้าจากโทรศัพท์มือถือของตัวเองเพิ่มขึ้นจาก 41% เมื่อปีก่อนหน้า  ตัวเลขดังกล่าวอธิบายถึงสาเหตุที่บรรดาบริษัทค้าปลีกกำลังปรับตัวเข้ากับยุคแห่งการชอปปิงแนวใหม่ในโลกไซเบอร์ ขณะเดียวกันผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่าง เผยว่า พวกเขาซื้อสินค้าเพียง 20% จาก ร้านค้าแบบเดิม ที่จะต้องเดินทางไปที่ร้าน  หาสินค้าและนำไปที่แถวชำระเงิน ซึ่งตัวเลขนี้ลดลงจากปีที่แล้วที่ 22% ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 42% เลือกที่จะค้นหาและซื้อสินค้าทั้งหมดผ่านเว็บไซต์ และผู้บริโภคที่เหลือบอกว่า ซื้อสินค้าออนไลน์และแบบเดิมรวมกัน

          สตีฟ ออสบอร์น ที่ให้คำปรึกษา กับบริษัทค้าปลีกหลายแห่งเกี่ยวกับซัพพลายเชน จากบริษัทเคิร์ท แซลมอน บอกว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะผู้คนต่างรู้สึกพอใจกับการชอปปิง ออนไลน์มากขึ้น สิ่งนี้กำลังเป็นผลร้าย ต่อผู้ค้าปลีก ส่วนข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เผยว่าการใช้จ่ายออนไลน์โดยรวมคิดเป็น 7.8% ของการซื้อสินค้าปลีกทั้งหมดของประเทศช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ด้านฟอร์เรสเตอร์ บริษัทวิจัยตลาดให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า ประชากรสหรัฐกว่าครึ่งหรือราว 190 ล้านคน จะซื้อสินค้าออนไลน์ในปีนี้

          ที่ผ่านมา "เชนห้างค้าปลีก" หลายแห่ง ก็ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมชอปปิง ออนไลน์ เมื่อ อเมซอน ดอทคอม อิงค์

          ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและแฟชั่นมากขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้  เมซี่ส์ อิงค์ เพิ่งแจ้งยอดขายรายไตรมาส ลดลงสูงสุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ เมื่อปี 2551 ขณะที่นอร์ดสตรอม อิงค์,  เจซี เพนนีย์ โค และโคห์ลส คอร์ป ต่างก็ แจ้งยอดขายลดลงเช่นกัน ส่วนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ อย่าง ทาร์เก็ต คอร์ป และ วอล มาร์ท สโตร์ส อิงค์ ยังคงรักษายอดขายที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยไว้ได้ในไม่กี่ไตรมาสล่าสุด อย่างไรก็ตามเพื่อทำให้เห็นว่าทุกสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่า "กำลังหันมา ใช้บริการการส่งสินค้าในเวลา 2 วัน"  ถึง 20% ในปีนี้ สูงขึ้นจาก 16% เมื่อปีก่อน และ 10% เมื่อปี 2557 ผลสำรวจนี้ระบุว่า  อเมซอน ไพรม์ บริการสื่อบันเทิงแบบ สตรีมมิ่งในเครืออเมซอน เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ เนื่องจากมีสมาชิกบริการถึง 31% ใช้บริการส่งสินค้าแบบ 2 วัน ขณะที่ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกใช้บริการดังกล่าวที่ 8% เท่านั้น

          ฟอร์เรสเตอร์ ประเมินว่าเมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว "อเมซอน"คิดเป็นการเติบโตยอดขายออนไลน์ทั้งหมดในสหรัฐ 60%

          จอห์น แฮเบอร์ ซีอีโอของสเปนด์ แมเนจเมนท์ เอ็กซ์เปิร์ตส บริษัทที่ปรึกษาซัพพลายเชน บอกว่าอเมซอนกำลัง

          เปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนและกำลังเปลี่ยนความคาดหวังของผู้บริโภค เนื่องจากมอบบริการการส่งสินค้าที่มีต้นทุนต่ำที่มาพร้อมความรวดเร็วให้กับผู้บริโภค จากนั้น ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนความคิดและในที่สุดกลายเป็นความคาดหวัง

          แม้คนยุคมิลเลนเนียล หรือยุคสหัสวรรษซื้อสินค้า 54% จากช่องทางออนไลน์ แต่อัตราการเปิดรับการชอปปิงไซเบอร์ในหมู่คนก่อนหน้ากลับกำลังเพิ่มขึ้นเร็วกว่า โดยผลสำรวจนี้บอกว่า 49%

          คนก่อนยุคสหัสวรรษเคยซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งสูงขึ้นจาก 44% เมื่อปี 2557  แต่เมื่อนับเฉพาะการชอปปิงผ่านโทรศัพท์มือถือ กลับพบว่า 63% ของคน ยุคสหัสวรรษใช้สมาร์ทโฟนของตัวเอง ซื้อสินค้า ขณะที่ 19% ของคนยุคเบบี้บูมเมอร์เท่านั้นที่ใช้โทรศัพท์มือถือชอปปิง และ ผู้สูงอายุที่ชอปปิงผ่านช่องทางนี้ มีเพียง 8% นอกจากนี้ผลการวิจัยที่ โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจระดับโลก เป็นผู้เผยแพร่ เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าคนยุคสหัสวรรษมีแนวโน้มใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ขณะที่ข้อมูลอีกชุดที่สถาบันการเงินรายนี้รวบรวม พบว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายออนไลน์ของคนอายุ 35-44 ปีในสหรัฐ ตามหลังคนรุ่นใหม่ราว 1-2 ปี ส่วนผู้ใหญ่อายุ 45-54 ปีตามหลัง คนรุ่นใหม่ไปอีก 2-3 ปี

          โกลด์แมน แซคส์ ประเมินอีกว่า การเติบโตของยอดขายเสื้อผ้าและ เครื่องประดับออนไลน์จะเพิ่มขึ้น 20%  อย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีข้างหน้า สูงกว่า การเติบโตไม่ถึง 10% ในช่วง 6 ปีก่อน สิ่งนี้เท่ากับว่ายอดขายเพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.76 ล้านล้านบาท) จะเปลี่ยนทิศทางผ่านมายังช่องทางออนไลน์ตลอด 4 ปีข้างหน้า ซึ่งรายได้จำนวนนี้ใกล้เคียงกับยอดขายเสื้อผ้าและ

          เครื่องประดับของเมซี่ส์, นอร์ดสตรอม และโคล์ลส ทุกช่องทางรวมกัน อัตราดังกล่าว จะทำให้การใช้จ่ายสินค้าเสื้อผ้าและ เครื่องประดับออนไลน์มีสัดส่วนเป็น 25% ของยอดขายทั้งหมดใน 4 ปีข้างหน้า เนื่องจากคนทุกวัยและทุกระดับฐานะจะซื้อสินค้าผ่านคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ถึงอย่างนั้นวงการอีคอมเมิร์ซที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดนี้ กลับทำให้ยักษ์ใหญ่สินค้าออนไลน์ อย่าง ราคูเท็น อิงค์ ต้องยกธงขาว ในหลายตลาดเช่นกัน โดยเมื่อไม่นานมานี้ ได้ประกาศปิดเว็บไซต์ชอปปิงในสหราชอาณาจักร สเปน และออสเตรีย ภายใน เดือน ส.ค.นี้ และเตรียมปลดพนักงานใน ทั้ง 3 ประเทศราว 100 คน แต่จะหันมาลงทุนในเยอรมนี และฝรั่งเศส ที่เติบโตสูงให้มากขึ้น

          ก่อนหน้านี้ ราคูเท็น จากญี่ปุ่น ก็ได้ทบทวนแผนธุรกิจเว็บขายสินค้าออนไลน์ ในต่างประเทศและได้ถอนตัวออกจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะที่ผู้ดำเนินงาน เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายนี้ได้เข้าสู่ตลาดยุโรปผ่านการควบรวมและซื้อกิจการตั้งแต่ ปี 2553  แม้ราคูเท็นไม่ได้เปิดเผยตัวเลข ผู้บริโภคในแต่ละประเทศ แต่ได้อ้างถึงสาเหตุที่ถอนตัวจากสหราชอาณาจักรและสเปนว่า เป็นเพราะต้นทุนการเติบโตจากขนาดของธุรกิจ แต่จะยังคงให้บริการอื่นๆ ในยุโรปต่อไป เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์  (อีบุ๊ค) บริการชมรายการออนไลน์ และ แอพพลิเคชั่นสนทนา

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 มิถุนายน 2559 หน้า 30



เอกสารที่เกี่ยวข้อง