เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
แนะไทยพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

          นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยในการสัมมนาระดมความเห็น อนาคตข้าว ยาง ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังรุ่งหรือร่วงในตลาดโลก ว่า สินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิดหากรัฐบาลผลักดันในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งการผลิตแปรรูปและส่งออกจะสร้างมูลค่า สูงมากเทียบเท่ากับการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

          ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าเหล่านี้ใน รูปวัตถุดิบ หรือสินค้าแปรรูปขั้นพื้นฐานเท่านั้น ทำให้มีมูลค่าน้อยอีกทั้งการแข่งขันสูงขึ้นจากกลุ่มซีแอลเอ็มวีที่ผลิตสินค้าได้คล้ายกัน

          เห็นได้จากการส่งออกยางพาราในช่วง ปี 2554 มากถึง 3.8 แสนล้านบาท ในปี2558 ลดลงเหลือ 1.7 แสนล้านบาท จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่หันมาแปรรูปพัฒนาสินค้าเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นหนีสู่ตลาดบน ซึ่งประสบการณ์เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการที่สั่งสมมานานย่อมมีศักยภาพที่จะทำได้และเป็นทางออกเดียวสำหรับการค้าสินค้าทั้ง 4 ชนิดนี้ในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า

          "มันสำปะหลังหากส่งออกเป็นมันเส้น แป้งมัน มันอัดเม็ดซึ่งมีตลาดใหญ่คือจีน ไทยจะสู้กัมพูชา และลาวไม่ได้เพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมาก  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศจีนและประเทศดังกล่าวไม่เก่งเท่าไทยด้านองค์ความรู้และการพัฒนา ไทยต้องใช้จุดแข็งหนีการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ส่วนยางพาราไทยควรจับมือกับจีน เพื่อสร้างศูนย์กลางการผลิตและส่งออกให้เร็วที่สุด เนื่องจากจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ วิธีนี้จะลดการพึ่งพาตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งโตคอมและไซคอม" นายอัทธ์ กล่าว

          นายไกรสิทธุ์ วงศ์สุรไกร กรรมการบริหารบริษัทโรงเส้นหมี่ชอเฮง กล่าวว่า ไทยมีข้อได้เปรียบที่สามารถผลิตข้าวได้อย่างเหลือกินเหลือใช้ ทำให้การส่งออกในปัจจุบันไปในรูปของข้าวสารมากกว่าการแปรรูปอื่น การจะผลักดันให้ข้าวเป็นสินค้าดาวรุ่งอย่างต่อเนื่องจะต้องมีการปรับปรุงแนวความคิด สินค้าที่ ยังปนเปื้อนสารพิษตกค้าง จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไปด้วยระเบียบทางการค้าที่เข้มงวด มากขึ้น เกษตรกรต้องหันมาผลิตข้าวที่ได้รับรอง การเพาะปลูกที่ดีและเหมาะสมหรือ GAP โดยการควบคุมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ Thai GAP ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          นายชโย ตรังอดิศัยกุล รองเลขาธิการรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า การผลิตยางของไทยที่ได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปีนั้น 87% เป็นการส่งออกในรูปของยางแปรรูปขั้นต้นในตลาดหลัก คือ จีนมีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 2.5 แสนล้านบาท อีก 13% เป็นการส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 2.5 แสนล้านบาท ต้องสนับสนุนให้เกิดการแปรรูปในประเทศมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นที่ 20%

          "ปีนี้คาดว่าการใช้ยางเพื่อแปรรูปส่งออกอยู่ที่ 14-15%  ผลจากที่ผู้ประกอบการจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพื่อเลี่ยงปัญหาการทุ่มตลาดที่สหรัฐ กล่าวหาโดยที่คนไทยนั่งอยู่เฉยๆ ขณะที่สหรัฐไม่สนใจรายชื่อผู้ประกอบการพิจารณาการนำเข้าสินค้าแต่ให้ความสำคัญเฉพาะแหล่งกำเนิด ดังนั้นหากผู้ประกอบการจีนยังคงดั้มพ์ราคาในตลาดการเพ่งเล็งและกล่าวหาครั้งต่อไปจะกระทบกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมของไทยทั้งหมด" นายชโย กล่าว

          นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัททักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (1993) จำกัดและเลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำปาล์ม กล่าวว่าด้วยระบบการควบคุมการผลิต ตั้งแต่พันธุ์ เปอร์เซ็นต์น้ำมันจนถึงโรงสกัดและโรงกลั่น ทำให้มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีผลผลิตต่อไร่และเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงกว่าไทย

          ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบหรือซีพีโอ ของมาเลเซียอยู่ที่ลิตรละ 23-24 บาท ต่ำกว่า ของไทยอยู่ที่ 35 บาท จึงมีความเสี่ยงที่จะ เกิดการลักลอบนำเข้า รัฐบาลควรเข้ามา ควบคุมพื้นที่การเพาะปลูก คุมการก่อสร้างโรงงานสกัดที่มีอยู่ถึง 145 โรง แต่ทุกโรงงานมีสกัดเพียง 50% ของศักยภาพการผลิต ทำให้ เกิดการแย่งซื้อปาล์มสถานการณ์แบบนี้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยจะไป ไม่รอด

          นางสุรีย์ ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยผูกขาดการส่งออกมันสำปะหลังทั้งแป้งมันมันอัดเม็ดและมันเส้นในตลาดจีนมากเกินไปถึง 78% ของการส่งออกทั้งหมด 42 ล้านตัน โดยไทยมี กำลังการผลิตที่ 37-38 ล้านตัน ที่เหลือไทยจึงต้องนำเข้าจากกัมพูชาและลาวเพื่อแปรรูปและส่งออก

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 พฤษภาคม 2559 หน้า 5



เอกสารที่เกี่ยวข้อง