เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
อ้อย ให้มากกว่าน้ำตาล

          :นวัตกรรมแก้ปัญหา&ลดต้นทุน

          "ศูนย์นวัตกรรมฯ มีหน้าที่ทำวิจัยสนับสนุนโรงงานแต่ละแห่ง โดยรับโจทย์ปัญหาและความต้องการของแต่ละแห่งมาวิเคราะห์วิจัย แล้วส่งคำตอบหรือแนวทางแก้ไขกลับไปยังโรงงานเจ้าของโจทย์ แต่ละปีจึงใช้งบวิจัยสูงมาก เพราะโรงงานในเครือมีอยู่มาก"  อมรเทพ กงชัยภูมิ เจ้าหน้าที่บริหารข้อมูล บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด กล่าว

          ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ก็ต้องขบคิดโจทย์ขึ้นมาเพื่อสร้างนวัตกรรมป้อนให้กับหน่วยธุรกิจในเครือ มิตรผลด้วย เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต  ยกตัวอย่าง เชื้อราเขียวช่วยเรื่องรักษาสภาพแวดล้อม จากปกติการกำจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมใช้สารเคมี จึงต้องวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววิธีใช้ทดแทนสารเคมี

          สำหรับเชื้อราเขียวมีอยู่ในธรรมชาติ มีความจำเพาะเจาะจงกับแมลงศัตรูอ้อย ปลอดภัยต่อการใช้งาน เมื่อวิจัยสำเร็จก็ได้ถ่ายทอดเทคนิคการผลิตและวิธีใช้ให้แก่ชาวไร่ พบว่า ชีวอินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูอ้อยสามารถลดความเสียหายได้ 30% จากมูลค่าความเสียหายเดิม 113 ล้านบาทต่อปี

          ถัดมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ประกอบด้วย ธาตุอาหารพืชตามมาตรฐานการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ทั้งมีการเติมเชื้อจุลินทรีย์เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยและปรับปรุงดินในระยะยาว นักวิจัยได้ศึกษาเชื้อจุลินทรีย์แล้วนำไปผสมปั้นเป็นเม็ด เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี 25% และลดการนำเข้าหัวเชื้อปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1.8 ล้านบาท

          รวมถึงการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นแบบจำลองระบบสารสนเทศที่ช่วยวางแผนการจัดการและคาดการณ์ผลผลิตอ้อยรายเดือนที่มีความแม่นยำสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิมได้ถึง 33% และสามารถใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์อื่นๆ  ทำให้โรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผลลดค่าใช้จ่ายในการสำรวจแปลงได้ 1.2 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 30 ล้านบาทต่อปี ลดค่าความเสียหายอ้อย 120 ตันต่อปีและลดเวลาทำงาน 50%

          "เราใช้เวลาพัฒนาระบบการตัดสินใจ 2 ปี เนื่องจากเป็นบิ๊กดาต้าที่มีระบบประมวลผลแทนคนตัดสินใจ ทั้งยังสามารถแจ้งข้อมูลให้ชาวไร่ได้ว่า ควรจะปลูกพันธุ์ไหน ให้น้ำเมื่อไร จะให้ผลผลิตเท่าไร สามารถคำนวณต้นทุนและผลผลิตได้ล่วงหน้า"

          :สร้างธุรกิจใหม่รองรับอนาคต

          จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมิตรผล ที่ให้ความสำคัญในการทำวิจัยต่อยอดธุรกิจ ส่งผลให้แต่ละปีจะมีงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมออกมาจำนวนมากตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เริ่มจากไร่อ้อย โรงงานผลิตไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ไปถึงมือผู้บริโภค

          จุดตั้งต้นจากการปลูกอ้อยของชาวไร่ที่มีโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ เมื่อมาถึงกระบวนการผลิตจะวิเคราะห์วิจัยว่า อ้อย 1 ตันควรจะได้น้ำตาลเท่าไรและจะมีกระบวนการที่สามารถเพิ่มผลผลิตและลดของเหลือจากกระบวนการผลิตได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น

          "เพราะอ้อยไม่ใช่แค่น้ำตาล อ้อยเป็นได้ทั้ง เอทานอล พลังงานไฟฟ้า กรดแลคติกในอุตสาหกรรม การผลิตพลาสติกที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งเป็นโจทย์อนาคตของการทำวิจัยต่อยอดธุรกิจใน กลุ่มมิตรผล" นอกเหนือจากการรับโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหา ในแต่ละปี ทีมนักวิจัยก็ต้องมานั่งคิดต่อว่า ในอนาคตอ้อยจะเป็นอะไรได้อีกบ้าง และคุ้มค่ากับการลงทุนไหม เนื่องจากแนวทางการพัฒนาในอนาคตไม่จำกัดแค่น้ำตาล

          อมรเทพ กล่าวว่า ในอนาคตระยะยาวน้ำตาลอาจเปลี่ยนสถานะมาเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ (by product)จากธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากอ้อยโดยตรง เช่น พลังงานไฟฟ้า

          ผลิตภัณฑ์สุขภาพและยา จะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ สิ่งเหล่านี้ทางมิตรผลกำลังศึกษาข้อมูล

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 มีนาคม 2559 หน้า 7



เอกสารที่เกี่ยวข้อง