การค้า การส่งออกและผลผลิตข้าวของไทย

  ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เป็นทั้งอาหารหลักและแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศ ซึ่งปริมาณการส่งออกข้าวที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด ในปี 2551 ปริมาณการค้าข้าวของโลกทั้งสิ้น 29.60 ล้านตันข้าวสาร ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดส่งออกข้าวสารถึงร้อยละ 34.53 ประเทศไทยมีคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง จีน มาเลเซีย แคนาดา โกตดิวัวร์ อิรัก อิหร่าน เป็นต้น


     

การส่งออกข้าวของไทย

      ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก ตั้งแต่ปี 2524 ถึงปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ.2551 ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยทำสถิติสูงถึง 10.216 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 203,219 ล้านบาท มีข้าวเปลือกหลากหลายชนิดพันธุ์ โดยมีข้าวหอมมะลิดีที่สุดในโลก ผลผลิต 28% เป็นข้าวหอมมะลิ 45% เป็นข้าวเจ้าอื่นๆ และ 27% เป็นข้าวเหนียว

การพัฒนาการค้า

 การส่งออกข้าวของไทย ข้าวนับว่าเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกข้าวนับแสนล้านบาท และส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างต่อเนื่อง 
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังประสบปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการผลิต ราคาและการส่งออก โครงสร้างพื้นฐานของการผลิตข้าว สภาพพื้นที่เพาะปลูก ในพื้นที่นาน้ำฝนมักเป็นกระทงนาผืนเล็กผืนน้อย เนื่องจากพื้นที่สูงต่ำต่างระดับ ทำให้ใช้เครื่องมือทุ่นแรงยาก แม้แต่ในพื้นที่ชลประทาน สภาพพื้นที่นาก็ยังไม่ได้รับการปรับสภาพให้เหมาะสม ทำให้การใช้น้ำสิ้นเปลือง ประกอบกับพื้นที่ชลประทานมีจำกัด และสภาพความยากจนของชาวนาไทย ทางด้านการตลาดแม้รัฐได้พัฒนาตลาดข้าวไทยให้มีระบบตลาดกลางข้าวเปลือกแล้ว แต่ก็ยังคงมีปัญหา ได้แก่ ปัญหาการกระจายข้าวเปลือกของเกษตรกรที่อยู่กระจัดกระจายห่างไกลจากแหล่งซื้อขายและไม่สามารถแบกภาระค่าขนส่งได้ นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาการแปรรูปข้าวเปลือกในโรงสีสหกรณ์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทำให้มีกำลังการผลิตน้อย นอกจากนี้ยังมีปัญหาราคาข้าวในตลาดโลกที่มักมีการผันผวนมาก บางครั้งผู้ส่งออกต้องซื้อข้าวในราคาสูง แต่ตอนขายกลับขายได้ในราคาต่ำ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อราคารับซื้อข้าวจากชาวนา 

      ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลในเชิงโอกาส (Opportunities) และอุปสรรคหรือข้อจำกัด (threat) ตลอดจนความต้องการในการบริโภคทั้งภายในและการส่งออก อันจะส่งผลให้ยุทธศาสตร์การผลิตข้าวมีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประสบผลสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยในปี 2553 ประเทศไทยมีแนวทางการพัฒนาการค้าข้าวตามแนวนโยบายดังนี้ 

      การพัฒนาการผลิต – มีการกำหนดเขตการปลูกข้าวที่เหมาะสมตามกลุ่มพันธุ์ ตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตามหลัก GAP / กำหนดให้ข้าวไทยปลอด GMOs / พัฒนา และวิจัยพันธุ์ กระจายพันธุ์ดีผ่านศูนย์ข้าวชุมชน / พัฒนาการผลิตข้าวเพื่อเจาะตลาดเฉพาะ(Niche Market) เช่นข้าวอินทรีย์ ข้าว GI

      การส่งเสริมและสนับสนุนชาวนาในการสร้างความเข้มแข็ง – พัฒนาชาวนาสู่การเป็นชาวนามืออาชีพ ทั้งด้านการผลิตข้าว และผลิตเมล็ดพันธุ์ดีตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาชาวนาให้เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ 

      การสร้างมูลค่าเพิ่ม – สร้างตราสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทย, สัญลักษณ์ความปลอดภัยด้านอาหาร (Q), ตราสินค้าเฉพาะถิ่นตามภูมิศาสตร์ / การสนับสนุนจัดหาเทคโนโลยีการผลิต ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เช่นข้าวกล้องงอก และผลพลอยได้จากข้าว (ฟาง, แกลบ, รำ, จมูกข้าว) 

      ด้านการตลาด – สนับสนุนชาวนาให้มีการรวมกลุ่มทำวิสาหกิจชุมชนในสินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าว / สร้างพันธมิตรการค้ากับประเทศผู้ส่งออก การค้าแบบแลกเปลี่ยนกับประเทศที่ต้องการข้าว / พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งสถานการณ์การค้าข้าวอย่างเสรีในปัจจุบัน มีการแข่งขันกันที่รุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับปรุงต้นทุนการผลิต ระบบการผลิต และกระบวนการส่งออก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป